13 กุมภาพันธ์ วันอนุรักษ์นกเงือก
นกเงือก เป็นนกขนาดใหญ่ ส่วนมากมักจะมีขนสีดำสลับขาว ทั่วโลกมี 55 ชนิด มีการแพร่กระจายอยู่ในแถบเขตร้อน ของทวีปอัฟริกา และเอเชีย
นกเงือกเป็นนกผัวเดียวเมียเดียว มีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกคู่ผัวเมียจะพากันหารัง ซึ่งได้แก่ โพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรง ด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ ตัวเมียจะขัง ตัวอยู่ภายในเพื่อออกไข่เลี้ยงลูก
นกเงือกสัญลักษณ์รักเดียวใจเดียว
ปัจจุบันนกเงือกใน ประเทศไทยมีทั้งหมด 13 สายพันธุ์ จากทั้งหมด 50 กว่าสายพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วโลก ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก โดยเฉพาะผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งรวมแล้วมีนกเงือกประมาณ 3,000 ตัว นกเงือกจึงเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่สำคัญอีกตัวหนึ่งนกเงือกมีบทบาทเด่นในการช่วยกระจายพันธุ์ไม้ในป่า เนื่องจากนกเงือกกินผลไม้สุกเป็นอาหารมากกว่า 300 ชนิด ทั้งผลไม้ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และด้วยพฤติกรรมของนกเงือกบินหาอาหารไปทั่ว และกินผลไม้เข้าไปทั้งผลแล้วขย้อนเมล็ดออกมา จึงสามารถนำพาเมล็ดพันธุ์พืชไปทิ้งไว้ยังที่ต่างๆ และเจริญขึ้นเป็นต้นกล้าได้ทั่วป่า นกเงือกจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการแพร่พันธุ์ของพืช ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในป่า และทำให้เกิดความสมดุลในธรรมชาติ นอกจากนี้นกเงือกยังเป็นสัตว์รักเดียวใจเดียว เนื่องจากพฤติกรรมของนกเงือกจะใช้ชีวิตคู่แบบ "ผัวเดียวเมียเดียว" จนแก่เฒ่าหรือกว่าจะตายจากกัน และตัวผู้ยังมีลักษณะของหัวหน้าครอบครัวที่ดี คอยหาอาหารให้และคอยดูแลปกป้องลูกนกและแม่นกให้ปลอดภัย นกเงือกจึงได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของ "รักแท้"
รูปลักษณ์ภายนอกที่สวยงามทำให้นกเงือกถูกรุกรานโดยมนุษย์ผู้ไม่เห็นคุณค่า ของชีวิตและ ความรักของผู้อื่นหรือสัตว์อื่น ทำให้เผ่าพันธุ์ของนกเงือกต้องตกอยู่ในภาวะอันตรายและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทั้งจากการถูกล่าโดยตรง และจากการลดจำนวนของผืนป่าและไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของครอบครัวนกเงือก มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 ก.พ. ของทุกปีเป็น "วันรักนกเงือก" โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาเพื่อให้คนไทยเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือกให้คงอยู่คู่กับป่าที่อุดมสมบูรณ์ตลอดไป ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อระดมทุนสำหรับการศึกษาวิจัยและ อนุรักษ์นกเงือกในประเทศไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น